ปรากฎการณ์บนโลกอันเนื่องมาจากดวงจันทร์


  การเกิดน้ำขึ้นน้ำลง (Tide) เกิดจากแรงดึงดูดระหว่าง โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง แรงดึงดูดต่อระยะทาง ซึ่งเมื่อพิจารณาพบว่าดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกและดวงจันทร์มาก ดังนั้น อิทธิพล การเกิดน้ำขึ้น - น้ำลง จะเกิดจากดวงจันทร์มากกว่า แต่ถ้า โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันจะเกิดน้ำขึ้นและน้ำลงเป็นอย่างมาก เราเรียกว่า "น้ำมาก" (Spring Tide) ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำเป็นของเหลวเมื่อถูกแรงดึงดูด และแรงหนีศูนย์กลางเพียงเล็กน้อยก็สามารถจะไหลถ่ายเทไปรวมกันที่จุดเดียวได้ แต่ถ้าหากดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มีแรงดึงดูดที่กระทำต่อโลกเป็นมุม การเกิดน้ำขึ้นน้ำลงจะมีน้อยมาก เรียกว่า "น้ำตาย" (Neap Tide) ซึ่งน้ำขึ้น น้ำลง แต่ละแห่งบนโลกไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยขึ้นหรือลงที่ระดับประมาณ 1 - 3 เมตร


  การเกิด สุริยุปราคา (Solar Eclipse) และจันทรุปราคา (Lunar Eclipse)    สุริยุปราคา เกิดจากตำแหน่งร่วม (Conjunction) ของการโคจรมาอยู่ใน แนวเดียวกันของ โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ทำให้เงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์เอาไว้ในเวลากลางวัน แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะขนาดของดวงจันทร์เล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก การเกิดสุริยุปราคามีหลายแบบ ได้แก่ สุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Eclipse) เกิดเนื่องมาจากระยะห่างจากโลกไปยังดวงจันทร์ไม่แน่นอน (เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี) เช่น ถ้าเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์โคจรห่างจากโลกมาก เงามืดของดวงจันทร์จะทอดมาไม่ถึงโลก ทำให้บริเวณที่เงาดวงจันทร์ทอดมาบังดวงอาทิตย์เห็นเป็นรูปวงแหวน ในจำนวนการเกิดสุริยุปราคาทั้งหมดนั้น มีประมาณร้อยละ 35 ที่เกิดแบบวงแหวน ร้อยละ 5 เกิดแบบวงแหวนและเต็มดวง และร้อยละ 28 เกิดแบบเต็มดวง จันทรุปราคา (Lunar Eclipse)
เกิดจากตำแหน่งร่วม (Conjunction) ของดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ ที่ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้เงาของโลกบังดวงจันทร์และเนื่องจากเงาของโลกมีความยาวถึง 900,000 ไมล์ เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเงาของโลก ทำให้คนที่อาศัยบนโลกมองเห็นจันทรุปราคาต่างๆ กันในแต่ละส่วนของพื้นที่ เช่น ถ้าดวงจันทร์โคจรผ่านมาในเงามืดทั้งดวง เรียกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) แต่ถ้าโคจรเฉียดเงามืดจะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) และถ้าโคจรผ่านเงามัวก็จะเกิดจันทรุปราคาแบบเงามัว (Penumbra Eclipse of moon)


ปรากฏภาคของดวงจันทร์บนท้องฟ้า ( Phase of the Moon) ในเวลากลางคืนเราจะเห็นดวงจันทร์ในข้างขึ้นข้างแรม ซึ่งลักษณะจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า "Phase of the Moon" ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดในเดือนทางจันทรคติ ส่วนของดวงจันทร์ที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะสว่าง ส่วนที่อยู่ตรงข้ามจะมืดเสมอ เดือนทางจันทรคติจะเริ่มตั้งแต่ช่วงดวงจันทร์ดับ (New Moon) ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกอยู่ในตำแหน่งร่วมกัน (Conjunction) ดังนั้นส่วนของดวงจันทร์ที่มืดสนิทจะหันมายังโลก ทำให้คนบนโลกไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ได้ในช่วงนี้ ถ้าเราสังเกตจะพบว่าช่วงนี้จะเป็นข้างแรม 15 ค่ำ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ไปตามวิถีการโคจรรอบโลก โดยดวงจันทร์ จะเคลื่อนที่ไปประมาณ 1 ใน 8 ของระยะทางทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 4 วัน เราจะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวขนาดเล็กปรากฏขึ้นทางขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตก เราเรียกวันดังกล่าวว่า ดวงจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น (The Crescent New Moon) จากนั้นอีกประมาณ 7 วัน ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ไปอีก ณ ตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า ดวงจันทร์ครึ่งซีกข้างขึ้น (Half Moon) หรือ ปรากฏภาคของดวงจันทร์เสี้ยวที่ 1 (The First Quarter) ซึ่งคนบนพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง จากนั้นเมื่อผ่านไปประมาณ 10 วัน เราจะเห็นภาพดวงจันทร์บนท้องฟ้าได้ถึง 3 ใน 4 ดวง เราเรียกว่า ดวงจันทร์ค่อนดวงขึ้น (Gibbous Moon) และเมื่อโคจรมาอีกเป็นเวลา 14 วัน จะเห็นดวงจันทร์เต็มดวง (Full Moon) ซึ่งเป็นช่วงที่วงโคจรของดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เราจึงเห็นดวงจันทร์เต็มดวงขึ้น 15 ค่ำ พอดี หลังจากดวงจันทร์เต็มดวง คือ ดวงจันทร์จะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออกของท้องฟ้า หลังจากข้างขึ้นดวงจันทร์จะโคจรไปเรื่อย ๆ เข้าสู่ข้างแรม ซึ่งเราสามารถสังเกตการเกิดข้างขึ้นและข้างแรมได้โดยง่าย คือ ในข้างขึ้นดวงจันทร์จะปรากฏทางทิศตะวันตก และเคลื่อนไปเต็มดวงที่ทิศตะวันออก ส่วนข้างแรมดวงจันทร์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปมืดสนิททั้งดวงทางทิศตะวันตกเสมอ

ที่มา http://www.rmutphysics.com/charud/naturemystery/sci3/geology/1/index_ch_1-5.htm?fbclid=IwAR0px6zmFpgy77Cl6neyel1h17vKPwRxL55O0lo63k7-HWl7VNy6iwyo8L0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น